ความบังเอิญหรือมนต์ดำ? ฟ้าผ่าเปรี้ยงกลางสนาม…ทีมนึงไม่เป็นไร อีกทีมนึงตาย 11 คน
ไม่รู้ว่าเถียงกันมากี่ร้อยกี่พันปีสำหรับเรื่องที่ว่าไสยศาสตร์และมนตร์ดำมีจริงหรือไม่ … ฝั่งที่เชื่อก็เชื่อสนิทใจ ฝั่งที่ไม่เชื่อก็เค้นหาเหตุผลร้อยแปดมาชี้แจง และมันยังไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจน 100% จนวันนี้
นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อสงสัยที่ได้กล่าวไป “มนตร์ดำมีจริงหรือ?” ภายในฟุตบอลสเตเดี้ยมแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา เมื่อธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถบังคับได้อย่าง “ฟ้าผ่า” เกิดผ่าเปรี้ยงลงมากลางสนามขณะที่มีการแข่งขันอยู่ จริงอยู่ที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ที่มันแปลกกว่านั้นคือมีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น 11 คน และเหลือเชื่อว่า 11 ผู้จากไปนั้นคือผู้เล่นจากทีมเดียวกันทั้งหมด …
.
มนตร์ดำกับฟุตบอลแอฟริกา
เรื่องราวของมนตร์ดำไสยศาสตร์ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มักจะปรากฎให้เห็นในชีวิตประจำวัน แต่ที่ดินแดนไกลโพ้นอย่าง ทวีปแอฟริกา พวกเขามีความเชื่อเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าเรา แม้จะถูกเรียกกันคนละชื่อแต่ที่สุดเเล้วปลายทางเหมือนกันทั้งหมดนั่นคือ “ไม่สามารถพิสูจน์ได้”
วัฒนธรรมของเเดนกาฬทวีปมักจะมีจุดเริ่มต้นมาจากชนเผ่า เกือบทุกชนเผ่าจะบนแผ่นดินแอฟริกามีความเชื่อในเรื่องการสร้างโลกของพระเจ้า และเมื่อเรื่องดังกล่าวส่งกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นมันจึงมีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับความเชื่อนี้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า โดยพระเจ้าของชาวแอฟริกันนั้นแบ่งเป็น 4 ธาตุตามความเชื่ออย่าง ดิน น้ำ ลม และ ไฟ
พวกเขามักจะมีเรื่องราวของการการขอพรหรือสิ่งที่ประสงค์กับพระผู้เป็นเจ้าในแต่ละธาตุ เพียงแต่ว่ามีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะความเชื่อที่ว่าพระเจ้าคือสิ่งที่อยู่ไกลจนคนธรรมดาสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมี “หมอผี” ที่คอยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง มนุษย์ กับ พระเจ้า ให้เข้าถึงกันได้ ด้วยวิธีต่างๆอย่าง ปลุกเสกพลังงานความเชื่อ หรือคำสาป ลงใน กระดูกของสัตว์ เมล็ดพืช หินสีต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งหัวกะโหลกของมนุษย์ คือสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของชนชาติแอฟริกันเสมอ นอกจากนี้อาจจะรวมถึง รอยสักอักขระบนร่างกาย หรือแม้กระทั่งการเต้นรำ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีขอพรของพวกเขา
ความเชื่อเหล่านี้ไม่มีขีดจำกัด เพราะมันมีอิทธิพลกับเกมกีฬาด้วย อาทิ ในฟุตบอลโลกปี 1990 ที่ อิตาลี แคเมอรูน คือชาติที่โด่งดังเป็นพลุแตกในครั้งนั้นจากการเข้ารอบแบ่งกลุ่มมาอย่างเหลือเชื่อ ทั้งๆ ที่ ณ เวลานั้นฟุตบอลของแอฟริกายังไม่ได้พัฒนาการและคุณภาพเท่าปัจจุบัน พวกเขาเปิดสนามด้วยการน็อก อาร์เจนตินา แชมป์เก่า ก่อนชนะ โคลอมเบีย ในรอบ 16 ทีม ทว่าสิ้นท่าให้อังกฤษในรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ความเชื่อถูกโยงมาเกี่ยวข้อง
.
หลายสำนักข่าวได้ทำข่าวเรื่องเบื้องหลังของทีมชาติ แคเมอรูน ที่ ณ เวล่านั้นมีตำแหน่ง “หมอผี” ประจำทีมที่ถือเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของทีม คอยเดินทางไปยังที่ต่างๆ เมื่อ แคเมอรูน ลงสนาม โดยว่ากันหมอผีในคราบเจ้าหน้าที่จะคอยทำพิธีขอพรจากพระเจ้าให้บันดาลชัยชนะแก่พวกเขา เหมือนกับเมื่อครั้งอดีตที่มักจะใช้การขอพรก่อนออกรบระหว่างเผ่า
และในการแพ้ให้กับ อังกฤษ ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายก็ยังถูกแซวว่ามีเหตุมาจากที่หมอผีทำพิธีติดขัด ไม่อย่างนั้น แคเมอรูน คงเป็นทีมแรกในทวีปที่ได้เข้าไปถึงรอบตัดเชือกในฟุตบอลโลกไปแล้ว
นอกจากนี้ใน ฟุตบอลโลก 2014 ยังมีสีสันของทีมจากทวีปแอฟริกา ออกมาเป็นระยะๆ อาทิหมอผีชาวกาน่าอ้างตนว่าได้ทำคุณไสยมนตร์ดำใส่ซุป’ตาร์ลูกหนังอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซึ่งจะทำให้ดาวเตะโปรตุกีสที่กำลังรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บอยู่จะรักษาหายไม่ทันการแข่งขัน ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำเอามาขยายในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าในแนวขำขัน หรือจริงจังก็ตาม
จะจริงหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แม้มันจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าพระเจ้าและมนตร์ของหมอผีมีจริงหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้มันพิสูจน์ว่าชาวแอฟริกันยังเชื่อมั่นในเรื่องนี้อย่างเต็มประตู รวมถึงสายฟ้าแห่งหายนะที่ประเทศดีอาร์ คองโกเมื่อปี 1998 …
.
ความบังเอิญหรือมนต์ดำ? ฟ้าผ่าเปรี้ยงกลางสนาม…ทีมนึงไม่เป็นไร อีกทีมนึงตาย 11 คน
ฟ้าผ่าจากพระเจ้า
การแข่งขันฟุตบอลในกรุงคินชาซ่า เมืองหลวงของประเทศดีอาร์ คองโก เมื่อปี 1998 ระหว่าง เบน่า ฌาดี้ กับ บาซังก้า ดำเนินไปอย่างปกติ ทั้งสองทีมผลัดกันรุกไล่จนสกอร์เสมอกันอยู่ที่ 1-1 จากนั้นเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
แดดที่เคยจ้าเปลี่ยนมาเป็นท้องฟ้าที่มืดทึบ จากนั้นสายฟ้าก็เริ่มก่อตัว ก่อนที่จะผ่าเปรี้ยงลงกลางสนามแบบไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ทั้งสิ้น … มันเเปลกดีที่อยู่ๆ สายฟ้าก็เลือกที่จะผ่าลงกลางสนาม ทั้งๆ ที่พื้นที่ว่างๆ ส่วนอื่นๆ รอบนอกก็ยังมีอีกไม่น้อย
หลังจากเสียงดังสนั่นเงียบลง ภาพที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือนักเตะในสนามค่อยๆ ทรุดตัวลงกับพื้นทีละคน ทีละคน จนสถานการณ์ตกอยู่ในความวุ่นวายไม่รู้จะช่วยใครก่อน เพราะมีนักฟุตบอลที่โดนสายฟ้าฟาดใส่ถึง 30 คน และเมื่อตรวจสอบละเอียดขึ้นเเล้วพบว่าใน 30 คนที่ทรุดตัวลงกับพื้น มี 11 นักเตะที่โชคร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต
“สายฟ้าได้คร่าชีวิตผู้เล่นอายุ 20-35 ปี ไปทั้งหมด 11 คน” พาดหัวจากสำนักข่าวท้องถิ่นอย่าง L’Avenir ก่อนที่จะขยายความเพิ่มว่า 11 คนที่เสียชีวิตคือผู้เล่นฝั่งทีมเยือนอย่าง เบน่า ฌาดี้ ทั้งหมด “นักฟุตบอลของ บาซังก้า (ทีมเหย้า) สามารถรอดชีวิตจากหายนะครั้งนี้ได้ทั้งหมดโดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
ความสงสัยเกิดขึ้นหลังจากนั้นว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญเกินไปหรือไม่เพราะสายฟ้าเลือกทั้งเวลาและสถานที่ลงในช่วงที่ทีมเจ้าบ้านกำลังเสียเปรียบพอดี อีกทั้งจำนวนคนตาย 11 คนมันก็เท่ากับจำนวนของนักฟุตบอลของทีมๆ หนึ่งพอดิบพอดี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้เล่นของ เบน่า ฌาดี้ ตายยกทีม … มันเหมือนกับว่าเรื่องนี้ถูกจัดฉากไว้โดยพระเจ้าโดยการขอร้องจากหมอผีและให้มนุษย์อย่างเราๆ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป
หนังสือพิมพ์ในประเทศดีอาร์ คองโกนั้นยกเอาเรื่อง มนตร์ดำ เข้ามาเกี่ยวข้องทันทีโดยไม่สนว่าทั้งโลกจะคิดอย่างไร พวกเขาปักธงเชื่อไปแล้วว่างานนี้ไม่ใช่แค่ธรรมชาติเท่านั้นที่สรรค์สร้างมา แถมยังอ้างถึงตำแหน่งหมอผีที่ทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ของทีมด้วย
“ลักษณะการผ่าที่ชัดเจนและแน่นอนของสายฟ้า ได้เลือกข้างแล้ว มันคือความเชื่อที่เรารู้จักกันดีในบ้านเมืองเรา นั่นคือเรื่องเครื่องรางในโลกฟุตบอล” L’Avenir เล่ายาวเป็นตุเป็นตะ ซึ่งไม่รู้ว่าพวกเขาเชื่อเช่นนั้นจริงๆ หรือจะเป็นการลงข่าวในสิ่งที่คนอ่านอยากอ่านและทำให้มันน่าติดตามมากขึ้นโดยการใช้เรื่องลึกลับมาเกี่ยวข้อง
.
วิทยาศาสตร์ทำอะไรได้บ้าง?
วิทยาศาสตร์อธิบายการเอาตัวรอดจากฟ้าผ่าได้หลากหลายวิธี อาทิ เลี่ยงการอยู่ในจุดเสี่ยง เช่น ที่โล่งแจ้ง นั่นหมายความว่าสนามฟุตบอลที่เป็นสนามกลางแจ้งนั้นย่อมมีโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าได้โดยไม่น่าใช่เรื่องเหลือเชื่ออะไร เช่นเดียวกับการไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสายล่อฟ้าอย่างชัดเจน
นอกจากนี้หากจวนตัวไม่สามารถหลบเข้าที่ร่มหรืออาคารได้ก็ยังมีวิธีลดความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่าเช่นกัน โดยเฉพาะการนั่งยองๆ เท้าชิดกันและเขย่งปลายเท้า พร้อมทั้งเอามือปิดหูเพื่อป้องกันเสียง โดยพยายามให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟไหลมาตามพื้น
น่าเสียดายที่รายละเอียดเกี่ยวกับฟ้าผ่าที่สนามฟุตบอลคองโกในวันนั้นไม่มีข้อมูลอะไรไปมากกว่านี้ พวกเขาไม่ได้ระบุว่าเหตุใดนักเตะเจ้าบ้านถึงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ซึ่งความจริงอาจจะมีเหตุผลอื่นๆ นอกจากเรื่องมนตร์ดำมาช่วยอธิบายได้ ไม่แน่นักเตะของทีมเจ้าบ้านอาจจะรู้ตัวและนั่งยองๆ ลงกับพื้นดังคำเตือนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนมากพอก็ยังทำให้เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์และเรื่องราวคลาสสิกของฟุตบอลแอฟริกัน
ความเชื่อเรื่องหมอผียังคงดำเนินต่อไป โดยที่วิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจอธิบายได้ และท้ายที่สุดเเล้วก็กลายเป็นการหาคำตัดสินของแต่ละบุคคลและขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเช่นเคย เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา