เปิดกรุตำนานถ้วยฟุตบอลโลก : สมบัติล้ำค่าแห่งเกมลูกหนัง
ในความเป็นจริงแล้วถ้วยฟุตบอลโลกใบแรกมีชื่อแต่เดิมว่า “วิคทอรี” ซึ่งหมายถึงชัยชนะ แต่ในปี ค.ศ. 1946 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Federation Internationale de Football Association : FIFA) มีมติอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนชื่อเป็น “จูลส์ ริเมต์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานฟีฟ่าคนที่ 3 ชาวฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 33 ปี ในช่วงปี 1921-1954 และถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ริเริ่มผลักดันให้มีการจัดศึกฟุตบอลโลกครั้งแรกเป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ.1930
จูลส์ ริเมต์ ประธานฟีฟ่าคนที่ 3 ชาวฝรั่งเศส ได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งฟุตบอลโลก
ถ้วย จูลส์ ริเมต์ เป็นผลงานการออกแบบของ “อาเบล ลาเฟลอร์‘ ประติมากรชื่อดังชาวฝรั่งเศส ทำขึ้นโดยมีส่วนประกอบจากเงินและทองคำน้ำหนัก 3.8 กก. ตัวถ้วยมีความสูง 35 ซม. ส่วนฐานของถ้วยทำด้วยหินล้ำค่าสีฟ้าหรือไพฑูรย์ (Lapis lazuli) ตรงบริเวณมุมทั้ง 4 ด้านของฐานมีการสลักชื่อของชาติที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกจำนวน 9 ทีมนับตั้งแต่ปี 1930-1970 ขณะที่ตัวถ้วยถูกรังสรรค์เป็น รูปเทพธิดาแห่งชัยชนะ (Goddess of Victory) ซึ่งมีนามว่า “ไนกี” ตามตำนานของชาวกรีกโบราณ
ด้วยความล้ำค่าของถ้วย จูลส์ ริเมต์ ทำให้มันถูกมือดีขโมยไปถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ในปี 1966 ช่วงก่อนที่อังกฤษจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกราว 4 เดือน ระหว่างนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนที่โบสถ์ “เวสต์มินสเตอร์ เซ็นทรัล ฮอลล์” กลางกรุงลอนดอน แต่ถูกพบในอีก 7 วันต่อมา ในสภาพที่ถูกห่ออยู่ในกระดาษหนังสือพิมพ์ และถูกฝังอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ในสวนย่านชานเมืองในเขตนอร์วูดทางใต้ของกรุงลอนดอน และการพบในครั้งนั้นเป็นผลงานของสุนัขเพศผู้ตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า “พิกเกิลส์” ขณะที่มันกำลังเดินเล่นในบริเวณดังกล่าวกับเดวิด คอร์เบ็ตต์ ผู้เป็นเจ้าของ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ที่ขโมยถ้วยไป
พิกเกิลส์ กับเดวิด คอร์เบ็ตต์ ผู้เป็นเจ้าของ
อย่าไรก็ดี ถ้วย จูลส์ ริเมต์ ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทางการบราซิลเป็นการถาวรไปแล้ว หลังจากที่ทีม “แซมบ้า” บราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งที่ 3 ในปี 1970 ที่เม็กซิโก ได้ถูกโจรกรรมอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค.ปี 1983 โดยคราวนี้ถูกฉกไปจากส่วนจัดแสดงภายในสำนักงานใหญ่ของสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล หรือ “ซีบีเอฟ” ในนครริโอ เดอ จาเนโร และถือเป็นการปิดฉากตำนานอันยิ่งใหญ่ของถ้วยใบนี้อย่างแท้จริง เพราะนับจากนั้น ไม่เคยมีใครได้พบเห็นถ้วย จูลส์ ริเมต์ อีกเลย โดยมีกระแสข่าวว่าถ้วยเกียรติยศใบนี้อาจถูกคนร้ายนำไปหลอมละลายเพื่อนำทองคำไปขายเสียแล้ว
เปิดกรุตำนานถ้วยฟุตบอลโลก : สมบัติล้ำค่าแห่งเกมลูกหนัง
ถ้วยจูลส์ ริเมต์ ตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของบราซิลหลังคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ในปี 1970
ในส่วนของถ้วยฟุตบอลโลกปัจจุบันนั้น มีข้อมูลว่าหลังจากเสร็จศึกฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ ปี 1970 ที่เม็กซิโกซึ่งบราซิลถล่มอิตาลีไปขาดลอย 4-1 และคว้าแชมป์ไปครองเป็นคำรบที่ 3 จึงได้สิทธิ์ครองถ้วย จูลส์ ริเมต์ เป็นการถาวร ส่งผลทำให้ทางฟีฟ่าต้องจัดทำถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ โทรฟี” ซึ่งทำขึ้นจากทองคำแท้ขนาด 18 กะรัต มีความสูงทั้งสิ้น 36.5 ซม. และมีน้ำหนักรวม 6.175 กก. โดยถ้วยฟุตบอลโลกใบใหม่นี้เป็นผลงานการออกแบบของซิลวิโอ กาซซานิกา ประติมากรชาวอิตาเลียนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแฟนตัวยงของสโมสร “ปีศาจแดง-ดำ” เอซี มิลาน ถ้วยฟุตบอลโลกใบใหม่นี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการแข่งขันเมื่อปี 1974 ที่เยอรมนีตะวันตกเป็นเจ้าภาพ และก็เป็นทีม “อินทรีเหล็ก” เจ้าบ้านที่สามารถคว้าถ้วยใบนี้ไปครองได้เป็นทีมแรก
ถ้วยฟีฟ่า เวิร์ลด์ คัพ ใบปัจจุบัน เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อฟุตบอลโลกปี 1974
ทางฟีฟ่ากำหนดให้ถ้วยฟุตบอลโลก “ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ โทรฟี” จะต้องอยู่กับฟีฟ่าเป็นการถาวร โดยจะไม่มีการมอบกรรมสิทธิ์เด็ดขาดให้กับชาติใดดังเช่นกรณีของถ้วย จูลส์ ริเมต์ อีกต่อไปแล้ว ส่วนทีมชาติที่ชนะเลิศในแต่ละครั้งจะได้รับถ้วยใบจำลองที่ทำจาก “ทองคำผสม” ไปครอบครองแทน
ทั้งนี้ ที่ส่วนฐานของถ้วยฟุตบอลโลกในปัจจุบันจะมีพื้นที่ไว้สำหรับสลักชื่อประเทศที่ชนะการแข่งขันจำนวน 17 ช่อง ซึ่งมีข้อมูลว่าช่องเหล่านี้จะเต็มหลังเสร็จศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2038 และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางฟีฟ่าจะยกเลิกการใช้ถ้วยใบปัจจุบันนี้หรือไม่หลังจากปีดังกล่าว.