เปิดตำนานฟุตบอล กีฬาฮิตที่สุดในโลก
เมื่อกล่าวถึงกีฬาอันเป็นที่นิยมมากที่สุดบนโลกของเราใบนี้เชื่อว่าหลายๆท่านจะต้องนึกไปถึงกีฬาชนิดเดียวกันนั่นก็คือ “ฟุตบอล” หรือ “ซอคเกอร์” (Soccer) เป็นแน่แท้ เห็นด้วยไหมครับ
กีฬาฟุตบอลนั้นถือได้ว่าเป็นที่นิยมและฮิตเป็นอันดับต้นๆ จนบางแหล่งข้อมูลถึงกับเสนอว่ามันฮิตเป็นอันดับแรกแซงหน้ากีฬาชนิดอื่นๆไปได้อย่างขาดลอย เป็นกีฬาที่มีคนนิยมเล่นกันมากเป็นอันดับต้นๆของโลก นั่นจึงทำให้มันเป็นกีฬาที่มีผู้ชมติดตามมากที่สุด อีกทั้งยังมีการรายงานว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่สร้างความร่ำรวยได้เป็นอันดับต้นๆของโลกเลยล่ะครับ
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถที่จะยืนยันได้ว่ากีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลถือกำเนิดขึ้นมาจากชนชาติใดกันแน่ แน่นอนครับที่ไม่ว่าจะประเทศใดก็ตามล้วนแล้วแต่มีวิวัฒนาการทางการกีฬาของตัวเอง บ้างก็รับวัฒนธรรมมาจากชาติอื่น บ้างก็ลอกเลียนแบบมา หรือบ้างก็กล่าวอ้างว่าประเทศของตนเป็นต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนั้นๆจากมุขปาฐะหรือการเล่าสืบต่อกันมาแบบปากต่อปาก ทว่าประเทศที่อ้างว่าเป็นเป็นต้นกำเนิดของกีฬาฟุตบอลกลับไม่สามารถหาหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมายืนยันได้ว่าตนเป็นผู้คิดค้นกีฬาชนิดนี้ขึ้นมาได้ก่อนชนชาติอื่น ดังนั้นเราจึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าใครที่เป็นผู้ริเริ่มกีฬาสุดฮิตอย่างฟุตบอลขึ้นมากันแน่
.
แต่ถ้าว่ากันตามหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ก็มีการค้นพบว่าในโซนเอเชียของเราเมื่อราวๆ 2,500 ปีที่แล้ว ในอารยธรรมจีนโบราณมีหลักฐานของการเล่นเกมที่มีชื่อเรียกว่า “ซูจู” (Tsu Chu) ซึ่งหมายถึงการเล่นเกมที่ต้องใช้ “เท้า” ในการเตะลูกบอล ซึ่งเกมบอลนี้มีทั้งที่เล่นเพื่อความสนุกสนานและเล่นเพื่อถวายองค์จักรพรรดิโดยจะมีรางวัลให้ผู้ชนะอย่างงามที่สุด แต่สำหรับผู้แพ้แล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์นัก เพราะจากหลักฐานปรากฏว่าพวกเขาอาจจะถูกลงโทษโดยการเฆี่ยนด้วยก็เป็นได้ครับ
.
สำหรับแดนปลาดิบหรือประเทศญี่ปุ่นก็มีหลักฐานของการเล่นกีฬาที่คล้ายคลึงกับฟุตบอลเช่นกันครับ พวกเขามีเกมการละเล่นที่เรียกว่า “เกมาริ” (Kemari) ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกราวๆช่วง ค.ศ. 644 และเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากเกม “ซูจู” ของจีนโบราณด้วยเช่นกัน เกมบอลชนิดนี้ต้องใช้เท้าในการเล่น แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้แข่งขันกันเพื่อยิงประตูเหมือนกีฬาฟุตบอล ทว่าจะเป็นการใช้อวัยวะของร่างกายเดาะบอลที่มีชื่อเรียกว่า “มาริ” (Mari) ซึ่งทำจากหนังกวางและเย็บด้านนอกด้วยหนังม้ากันในสนามรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวราวด้านละ 6 ถึง 7 เมตรโดยไม่ให้บอลหล่นพื้นแล้วจึงเตะส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งก็หมายถึงเกมาริเป็นเกมกีฬาที่ทุกคนช่วยกันเล่นมากกว่าที่จะชิงชัยหาผู้ชนะในการแข่งขัน สำหรับเกมารินี้ ผู้เล่นสามารถใช้อวัยวะส่วนใดเพื่อเดาะบอลก็ได้ ยกเว้นก็เพียงแค่แขนและมือเท่านั้น เรียกได้ว่าจะใช้ศีรษะ เท้า เข่าหรือข้อศอกก็ได้เช่นกัน ก็ขึ้นกับกติกา ณ ขณะนั้นที่ตกลงกันระหว่างเล่นครับ
.
เปิดตำนานฟุตบอล กีฬาฮิตที่สุดในโลก
ในทวีปอเมริกาสมัยโบราณก็มีการเล่นเกมบอลเช่นกันครับ โดยเฉพาะอารยธรรมมายาโบราณในทวีปอเมริกากลาง หรือประเทศเม็กซิโกและกัวเตมาลาที่รุ่งเรืองอยู่เมื่อราวปี ค.ศ.250 ถึงราวๆ ค.ศ.1200 ก็มักจะมีสนามแข่งเกมบอลปรากฏอยู่ในหลายๆเมืองของพวกเขาด้วยเช่นกัน รูปแบบการเล่นเกมบอลของชาวมายานั้นไม่ได้ช่วยกันเล่น ทว่าแบ่งฝ่ายเพื่อแข่งขันกัน อีกทั้งผู้แพ้ยังอาจจะถูกจับมาบูชายัญด้วยการตัดคออย่างสยดสยองอีกด้วยครับ!!
เกมบอลของพวกเขาอนุญาตให้ใช้อวัยวะในการสัมผัสบอลได้หลายส่วนไม่ว่าจะเป็นแขนท่อนบน โคนขา เข่า เอวหรือสะโพก แต่อวัยวะที่ห้ามสัมผัสบอลเลยคือ “มือ” ครับ เรียกได้ว่าโอกาสเดียวที่มือสามารถสัมผัสกับบอลได้ก็คือตอนที่โยนบอลเพื่อเริ่มเล่นเท่านั้นล่ะครับ
เกมบอลของชาวมายาประกอบไปด้วยผู้เล่น 2 ทีม ทีมละประมาณ 2 ถึง 3 คน คือมีผู้เล่นในสนามทั้งหมดราว 4 ถึง 6 คน สนามแข่งเกมบอลนั้นมีรูปร่างลักษณะเหมือนอักษรตัวไอในภาษาอังกฤษ (I) ทั้งสองข้างประดับด้วยเนินทางลาดหรือบ้างก็เป็นกำแพงตั้งฉาก เพื่อให้ลูกบอลที่กระเด้งไปโดนนั้นสามารถสะท้อนกลับมาได้ และที่สำคัญคือเนินหรือกำแพงนี้จะประดับด้วยหินรูปวงแหวนวางตัวในแนวตั้งด้านละ 1 วงเพื่อเป็นห่วงสำหรับทำแต้มอีกด้วยครับ
แต่การควบคุมลูกบอลของเกมบอลสำหรับชาวมายานั้นเชื่อได้ว่ายากกว่าการเดาะบอลในเกมเกมาริอย่างแน่นอน เพราะลูกบอลของชาวมายาโบราณทำจาก “ยาง” แบบตันๆทั้งลูกเลยครับ โดยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกบอลจะอยู่ที่ราวๆ 1 ฟุต จนถึง 1.5 ฟุต และมีน้ำหนักมากกว่า 3.5 กิโลกรัมเลยทีเดียว นั่นจึงจินตนาการได้ไม่ยากว่าถ้าเกิดเล่นพลาดขึ้นมาอาจจะเจ็บตัวกันได้ง่ายๆ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือถ้าเล่นแพ้ ก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตเพราะถูกบูชายัญเลยก็เป็นได้อีกเช่นกัน ซึ่งบางครั้งกะโหลกศีรษะของผู้แพ้ก็ถูกนำมาฝังเอาไว้ในลูกบอล เพื่อให้ลูกบอลมีน้ำหนักเบาลงด้วยครับ จะว่าไปแล้วเกมบอลของชาวมายาโบราณก็น่าขนลุกขนพองอยู่ไม่น้อย
ชาวกรีกโบราณก็มีการเล่นเกมบอลที่รู้จักกันในชื่อเอพิสคีรอส (Episkyros) ซึ่งเป็นเกมบอลแบบแข่งขันกันสองทีมโดยมีผู้เล่นทีมละประมาณ 12 ถึง 14 คน เกมนี้สามารถใช้มือได้และจะเล่นโดยการขว้างบอลให้สูงเหนือศีรษะของคู่ต่อสู้ แต่น่าเสียดายที่กติกาที่ชัดเจนไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันสักเท่าใดนัก เราทราบหลักฐานจากนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) ว่ากีฬาชนิดนี้เล่นกันค่อนข้างรุนแรงอยู่เหมือนกันครับ ชาวเมืองสปาร์ตาเล่นเอพิสคีรอสกันในงานเฉลิมฉลองประจำปี ซึ่งมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 5 ทีม ทีมละ 14 คน สิ่งที่น่าสนใจก็คือถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วนักกีฬาเอพิสคีรอสมักจะเป็นผู้ชาย แต่ก็พบว่ามีสตรีชาวกรีกที่หัดเล่นกีฬาชนิดนี้ด้วยเช่นกันครับ
.
และกีฬาเอพิสคีรอสของกรีกโบราณนี่ล่ะครับที่ส่งอิทธิพลไปถึงสมัยของชาวโรมันในยุคหลัง จนสะท้อนออกมาเป็นเกมกีฬาของโรมันที่เรียกว่าฮาร์พาสตัม (Harpastum) ในที่สุด ฮาร์พาสตัมใช้ลูกบอลทำจากกระเพาะปัสสาวะหมูสูบลม แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องใช้เท้าในการเล่นอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะเตะด้วยก็ได้ หรือบ้างก็อาจจะใช้วิธีการถือวิ่งหรือขว้างลูกบอลนี้ไปยังที่หมายของฝ่ายตรงข้ามก็ได้ ซึ่งดูไปแล้วก็คล้ายกับกีฬารักบี้สมัยนี้มากกว่าล่ะนะครับ
ฮาร์พาสตัมเป็นเกมบอลแบบแข่งขันกันสองทีม จำนวนผู้เล่นไม่คงที่ สามารถเล่นได้ตั้งแต่ 5 ถึง 12 คน ส่วนลูกบอลที่ใช้ในการเล่นจะแข็งและเล็กกว่าลูกฟุตบอลที่ใช้เล่นกันในปัจจุบันเล็กน้อย ส่วนสนามก็จะเป็นสี่เหลี่ยมแบ่งครึ่งเป็นสองฝั่งคล้ายคลึงกับสนามฟุตบอลอยู่เหมือนกันครับ เมื่อเริ่มเล่นแต่ละทีมจะประจำอยู่ในฝั่งของตัวเอง จุดประสงค์ของเกมคือต้องไล่จับคนที่ถือบอล ส่วนคนที่ถือบอลก็ต้องขว้างหรือโยนบอลให้เพื่อนร่วมทีมเพื่อนำลูกบอลไปวางไว้ยังจุดที่กำหนด นั่นจึงทำให้มีการเสนอว่าฮาร์พาสตัมน่าจะคล้ายคลึงกับกีฬารักบี้มากกว่าที่จะเป็นฟุตบอลที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบันครับ
.
มีการเสนอกันว่าเกมฮาร์พาสตัมที่ชาวโรมันเล่นกันนี่ล่ะครับที่แพร่หลายเข้าไปยังเกาะอังกฤษและเป็นปฐมบทแห่งกีฬาฟุตบอลในเวลาต่อมา แต่น่าเสียดายที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดมาสนับสนุนทฤษฎีนี้ นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องที่เล่าต่อกันมาว่าในช่วงที่เดนมาร์กบุกอังกฤษนั้น แม่ทัพเดนมาร์กพลาดท่าถูกสังหาร ทางทหารฝ่ายอังกฤษก็ได้ตัดศีรษะของแม่ทัพผู้โชคร้ายมาเตะเล่นในค่ายทหารก่อนที่กิจกรรมอันน่าสยดสยองนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นการเตะลูกบอลที่ทำจากหนังไปในที่สุด
หลังจากนั้นกีฬาเตะบอลนี้ก็ได้กลายมาเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับชาวอังกฤษไปด้วย โดยกีฬาชนิดนี้ก็ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางจนคนในชนบทของประเทศอังกฤษก็สามารถเข้าถึงได้ด้วยครับ และด้วยว่ากีฬาชนิดนี้ฮิตติดลมบนมากจนถึงขั้นรบกวนการฝึกยิงธนูซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวอังกฤษต้องฝึกฝนกันในสมัยนั้นเพื่อเตรียมทำสงครามกับสกอตแลนด์ นั่นจึงทำให้ในช่วงปี ค.ศ.1349 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (Edward III) จึงได้ออกพระบัญชาห้ามไม่ให้มีการเล่นฟุตบอลเสียเลยเพื่อเป็นการตัดปัญหา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการเล่นฟุตบอลต่อมาเรื่อยๆ จนเมื่อประเทศอังกฤษได้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นในปี ค.ศ. 1863
.